เหรียญพระครูทองศุข วัดโตนดหลวง


... ...



เลขที่ : 0934
ประเภทพระเครื่อง : พระเหรียญ พระหล่อ
ชื่อพระเครื่อง : เหรียญพระครูทองศุข วัดโตนดหลวง
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เหรียญพระครูทองศุข วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี รุ่น๒ ปี 2498
ในบรรดาเหรียญยอดนิยมของพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของเมืองไทย ส่วนมาก เหรียญรุ่นแรก มักจะได้รับความนิยมและมีราคาสูงกว่ารุ่นต่อๆ มา แต่สำหรับ เหรียญหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง รุ่น ๒ กลับได้รับความนิยมมากกว่าเหรียญรุ่นแรก ด้วยเหตุที่เหรียญรุ่น ๒ มีใบหน้าคล้ายหลวงพ่อมากกว่าเหรียญรุ่นแรก ซึ่งหลวงพ่อเองท่านก็ชอบเหรียญรุ่น ๒ นี้มาก ทั้งยังเป็นที่รู้จักและมีประสบการณ์สูง จนติดอันดับ เหรียญยอดนิยมของเมืองเพชรบุรี ด้วยพุทธคุณเป็นที่กล่าวขานว่า เป็นหนึ่งในเหรียญหนังเหนียว ดีเด่นทางด้านมหาอุด คงกระพันชาตรี แถมเรื่องเมตตาค้าขายก็ขึ้นชื่อแบบไว้ใจได้ ชนิดที่คนเมืองเพชรเชื่อถือกันมาหลายสิบปีได้อย่างสนิทใจ
หลวงพ่อทองศุข ท่านเป็นชาวเมืองเพชรบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ ที่บ้านทับใต้ ต.หินเหล็กไฟ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่ออายุได้ ๙ ปี ต้องติดตามบิดามารดาที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่บ้านโพธิ์ท่าไทร ต.สมอพลือ อ.บ้านลาด ได้เรียนหนังสือที่วัดโพธาวาส โดยท่านเจ้าอาวาส หลวงพ่อส่วง เป็นผู้สอนทั้งภาษาขอมและภาษาบาลี ควบคู่กับการเรียนวิชากระบี่กระบอง จนทำให้ท่านมีฝีมือในวิชาการต่อสู้ทุกรูปแบบตั้งแต่อายุยังน้อย
ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ได้ติดตามครอบครัวย้ายไปอยู่ที่บ้านเพลง จ.ราชบุรี ด้วยความที่เป็นคนจิตใจกล้าแข็ง ไม่เกรงกลัวผู้ใด ทั้งยังมีฝีมือในศิลปะป้องกันตัวทุกรูปแบบ แถมชื่นชอบในการแสดง เช่น โขน ลิเก ฯลฯ ทำให้เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มจึงมีเพื่อนฝูงและลูกน้องมากขึ้น ถึงขนาดมาขอร่ำเรียนวิชาการต่อสู้จากท่าน จนทำให้ต้องหันเหไปเป็นนักเลง และเป็นที่ต้องการของตำรวจ ติดตามจับกุม มีหมายจับในหลายๆ จังหวัด ทำให้ท่านต้องหนีไปอยู่ในป่า ได้รับความลำบากมาก บางครั้งต้องอดข้าวอดน้ำเป็นเวลานาน
จนเมื่อท่านมีอายุได้ ๓๒ ปี ด้วยความเบื่อหน่ายทางโลกและต้องคอยหลบหนีอาญาบ้านเมือง แต่ด้วยความที่มีวิชาอาคมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ท่านไม่เคยถูกจับกุม หลังจากที่ได้ตัดสินใจแล้ว ท่านจึงเดินทางมาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ที่วัดปราโมทย์ ต.โรงหวี อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม โดยมี หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อตุย วัดปราโมทย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อคง วัดแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินทโชโต”
ท่านได้อยู่ประจำที่วัดปราโมทย์ในระยะแรก โดยเรียนวิชากับ พระอาจารย์ตุย และได้เดินทางไปเรียนคาถาอาคมเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง (หลวงพ่อทองศุขเป็นศิษย์รุ่นน้อง หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม) โดยพระอุปัชฌาย์ ได้ถ่ายทอดวิชาให้จนหมดสิ้น โดยเฉพาะวิชาทางคงกระพันชาตรี
หลังจากนั้นท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดแก้ว เรียนวิชาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อคง และได้เดินธุดงค์ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ตามจังหวัดต่างๆ เมื่อได้เดินทางกลับมาที่ จ.เพชรบุรี ถึง วัดโตนดหลวง เป็นเวลาที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดว่างลงพอดี ด้วยความศรัทธาของชาวบ้าน ที่ได้พบกับ หลวงพ่อทองศุข และด้วยความเมตตาของหลวงพ่อที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านในการรักษาโรคภัยต่างๆ และการใช้วิชาอาคมสร้าง เครื่องรางของขลัง ให้ไว้บูชาคุ้มครอง ชาวบ้านจึงพร้อมใจขอให้ท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ในช่วงนั้น วัดโตนดหลวง อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมานาน ท่านจึงต้องบูรณะวัดเป็นการใหญ่ แต่ด้วยความศรัทธาของชาวบ้าน จึงได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยหลวงพ่อบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ จนวัดมีความเจริญรุ่งเรืองในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านเดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ท่านยังช่วยบูรณะวัดต่างๆ อีกหลายแห่ง
จากผลงานต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ หลวงพ่อทองศุข ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูพินิจสุตคุณ” เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ปกครองดูแลวัด และเป็นที่พึ่งของชาวบ้านตลอดมา จนหลวงพ่อถึงวัยชราภาพและป่วยเป็นอัมพาต สุดท้ายถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๐ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี พรรษา ๕๒
เมื่อครั้งที่ หลวงพ่อทองศุข รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง ท่านได้บูรณะวัดที่ทรุดโทรมมาก จึงมีศิษย์ที่มาช่วยทำงานบูรณะวัด ในครั้งนั้นต้องเดินทางไปตัดไม้ในป่า หลวงพ่อจึงได้สร้าง เครื่องรางของขลัง มอบให้ติดตัวในยุคแรก เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ จนเป็นที่ร่ำลือในด้านพุทธคุณ ทั้งเรื่องคงกระพันชาตรี เมตตาค้าขาย ทำให้เครื่องรางของขลัง ของหลวงพ่อเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง สร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นอย่างมาก แม้กระทั่ง การสักยันต์ ของหลวงพ่อก็เป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ
ต่อมาเมื่อมีพิธีปลุกเสกพระเครื่องรายการใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดต่างๆ จึงมักจะมีชื่อของหลวงพ่อทองศุขไปร่วมพิธีด้วยเสมอ ในหลายๆ งาน
หลวงพ่อมีศิษย์ที่เป็นฆราวาสระดับข้าราชการชั้นสูงหลายๆ ท่าน อาทิ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, พันเอกพระยาศรีสุรสงคราม ฯลฯ รวมถึงศิษย์ที่เป็นพระสงฆ์ที่มาขอเรียนวิชา และมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา คือ หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง, หลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร, หลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง, หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก, หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง ฯลฯ
วัตถุมงคลของหลวงพ่อที่สร้างขึ้นและได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้ได้แก่ ตระกรุดพอกครั่ง, ตะกรุดชุด, ตะกรุดสาริกา, ลูกสะกด, ผ้ายันต์, แหวน, รูปหล่อ และที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมที่สุด คือ เหรียญรูปเหมือน ทั้ง ๒ รุ่น โดยเหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ในงานยกช่อฟ้าอุโบสถ นับเป็นเหรียญที่นิยมและหาได้ยาก
แต่เหรียญรุ่นแรกความนิยมจะเป็นรอง เหรียญรุ่น ๒ พ.ศ.๒๔๙๘ เนื่องจากใบหน้าของเหรียญรุ่น ๒ เหมือนหลวงพ่อมากกว่า เหรียญรุ่น ๒ สร้างขึ้นเพื่อแจกในงานฉลองกุฏิ จำนวนสร้างไม่มีการบันทึกไว้ คาดว่ารวมๆ กัน ไม่ถึงหนึ่งหมื่นเหรียญ มีเนื้อทองคำ เงิน และเนื้อทองแดง
ลักษณะเหรียญรุ่น ๒ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อครึ่งองค์ ข้างบนมีคำว่า “พระครูทองศุข อินทโชโต” ด้านหลังตรงกลางเป็นยันต์ประจำตัวท่าน บนสุดมีคำว่า “ที่ระลึกในงานฉลองกุฏิ” ล่างสุดมีคำว่า “วัดโตนดหลวง ๒๔๙๘”เหรียญทั้งหมดนี้ได้ปั๊มเนื้อทองแดงก่อน หลังจากได้จำนวนหลายพันเหรียญแล้ว แม่พิมพ์ได้เคลื่อน ทำให้ด้านหน้าตรงอักษร “อินทโชโต” สระ อิ มีเนื้อเกินขึ้นมาชิดติดขอบเหรียญ เมื่อปั๊มเนื้อทองแดงได้ครบตามจำนวนแล้ว จึงจะปั๊มเนื้อเงินกับเนื้อทองคำ ทั้ง ๒ เนื้อนี้ สระ อิ มีเนื้อเกินทั้งหมด ปัจจุบันได้แบ่งเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ “อิลอย” และพิมพ์ “อิติด” (ที่มา : ศาล มรดกไทย, คม ชัด ลึก, 11-12 มิถุนายน 2560)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน