เทวรูป พระวิษณุกรรม


... ...
... ...



เลขที่ : 1092
ประเภทพระเครื่อง : พระพุทธรูปบูชา
ชื่อพระเครื่อง : เทวรูป พระวิษณุกรรม
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เทวรูป พระวิษณุกรรม (พระวิศวกรรม) ทรงนั่งชันเข่า สนับเพลาสั้น ทรงมงกุฎเป็นกรวยแหลม ทรงกุณฑล ศิลปกรรมขอม เนื้อสัมฤทธิ์ สนิมสีฟ้าอมเขียว
เทพแห่งวิศวกรรม คือ "พระวิศวกรรม" ที่คนไทยเรานิยมเรียกสั้น ๆ ว่า"พระวิศวกรรม" หรือเรียกตามความคุ้นเคย (ซึ่งพ้องกับชื่อของพระวิษณุ) ว่า "พระวิษณุกรรม" หรืออีกหลายชื่อเช่น “ พระพิษณุกรรม” “พระเวสุกรรม” “พระวิศวกรรมา” “ พระวิศวกรมัน” "พระเพชฉลูกรรม" "ท้าววิสสุกรรม" "ท้าวเวสสุกรรม" หรือ “ตวัสฤ”
ชื่อที่ถูกต้องตามภาษาสันสกฤตคือ Vishwakarman หรือ Vishnukarman หรือ Bishnukarm ส่วนคำว่า เพชรฉหลูกรรมนั้น มาจากบทสวดที่ใช้ในพิธีพราหมณ์ เช่นในพระคาถาประจุน้ำมนต์ธรณีสาร ที่มีคำว่า “....... เพชรฉหลูกันเจวะ สัพพะกัมมะ ประสทธิเม ....” ดังนั้น กลุ่มผู้บูชาที่เน้นพิธีกรรม เช่น เน้นทางพิธีพราหมณ์ต่าง ๆ หรือการไหว้ครูในทางดุริยศิลป์จึงมักเรียกท่านว่า พระเพชรฉลูกรรม หรืออาจเรียกท่านว่า พระฤาษีเพชรฉลูกรรม ส่วนตวัสฤนั้น คาดว่าคงจะมาจาก Tvasti ซึ่งมาจากภาษาสันสฤต และมักจะมีความหมายถึงพระวิษณุกรรมเช่นกัน บทสวดที่มาจากภาษาฮินดูโบราณที่เสียงคล้ายกับบทสวดในคัมภีร์ฤคเวท บทสวดที่เป็นภาษาฮินดูโบราณนี้มักใช้มากในประเทศเขมร เพราะราวช่วงที่เขมรรุ่งเรืองในยุคของนครวัด หรือประมาณ คริสตศักราช ๑๑๐๗ –๑๑๗๗ (ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐) นั้น มีการบูชาพระวิษณุกรรมอย่างกว้างขวางเพราะเขมรสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจาก ฮินดูค่อนข้างมากทำให้การบูชาพระวิษณุกรรมในไทยได้รับอิทธิพลมาจากเขมรบ้างในบางพิธี ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมีบางสถาบันที่ยังใช้บทสวดที่เป็นภาษานี้อยู่ เช่น บทสวดที่ขึ้นว่า “....โอม สะศาง ขะจักรัม สะกิริฎะกุณตะลัม สิปตะวัสตรัม....”
การที่คนไทยเราเรียกพระวิศวกรรมา ว่า "พระวิษณุกรรม" และในที่สุดก็กร่อนลงเหลือเพียง 'พระวิษณุ' ซึ่งเป็นชื่อของเทพที่คนไทยเรารู้จักมักคุ้นกันมากกว่า ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนี่เอง ทำให้หลายคนเข้าใจว่าพระวิษณุเป็นเทพแห่งวิศวฯ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สำหรับเทพแห่งวิศวฯ ตัวจริง คือ พระวิศวกรรมา หรือพระวิษณุกรรม นั้น ท่านเป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรที่มีความชำนาญงานช่างทุกแขนง
ในตำนานพุทธศาสนาเล่าว่า ท่านเป็นผู้สร้างอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ (ก่อนที่จะอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า) เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้ว ทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสนคร ซึ่งเป็นเส้นทางที่พระพุทธเจ้าใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ในช่วงเข้าพรรษา) นอกจากจะเป็นสถาปนิกและเป็นวิศวกรด้านโยธาและสำรวจ ดังจะเห็นได้จากผลงาน ๒ ประการที่ว่านี้แล้ว พระวิศวกรรมายังเป็นวิศวกรเครื่องกลอีกด้วย กล่าว คือ ท่านเป็นผู้สร้างวาฬสังฆาตยนต์ ซึ่งเป็นกงล้อหมุนรอบองค์พระสถูป ปกปักรักษาป้องกันมิให้บุคคลเข้าใกล้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุหลังพุทธปรินิพพานและอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในองค์พระสถูปที่ว่านี้
ส่วนตามตำนานฮินดู พระวิศวกรรมาก็มีผลงานเด่นๆ สรรค์สร้างไว้มากมาย เช่น ครั้งหนึ่ง ธิดานางหนึ่งของท่าน ชื่อว่า นางสัญชญา เป็นชายาของพระอาทิตย์ บ่นให้พระวิศวกรรมาผู้เป็นพ่อฟังว่า พระอาทิตย์สามีของตนนั้นช่าง "ร้อนแรง" เหลือเกิน เข้าใกล้ไม่ค่อยได้ พระวิศวกรรมาสงสารลูกสาว จึงช่วยเหลือ โดยไปขูดผิวพระอาทิตย์ออกเสียบางส่วน ทำให้ความร้อนแรงนั้นทุเลาลงไปบ้าง และผิวพระอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้าที่ขูดออกมาได้นั้น พระวิศวกรรมาได้นำไปรังสรรค์-ปั้น-แต่ง แล้วถวายให้เป็นอาวุธทรงอานุภาพและมีประกายแวววาวแก่เทพองค์สำคัญของสวรรค์ชั้นฟ้า ได้แก่ อาวุธ "ตรีศูล" (สามง่าม) ของพระอิศวร "จักราวุธ" (กงจักร) ของพระนารายณ์ "วชิราวุธ" (สายฟ้า) ของพระอินทร์ "คทาวุธ" (กระบอง) ของท้าวกุเวร และ "โตมราวุธ" (หอก) ของพระขันทกุมาร เป็นต้น
ผลงานอื่นๆ ของท่านที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เป็นผู้สร้างกรุงลงกาให้แก่ทศกัณฐ์ในเรื่องมหากาพย์รามายณะ สร้างกรุงทวารกาให้แก่พระกฤษณะ (ซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์) ในเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ สร้างวิมานให้แก่พระวรุณ(เทพแห่งน้ำ)และพระยม(เทพแห่งความตาย) สร้างราชรถบุษบกเป็นพาหนะให้แก่ท้าวกุเวร เป็นผู้ปั้นนางติโลตตมา นางฟ้าที่สวยที่สุดนางหนึ่งบนสวรรค์ (สวยจนทำให้พระอินทร์ผู้ปรารถนาเห็นนางติโลตตมาอย่างจุใจ กลายเป็น "ท้าวสหัสนัยน์" มีดวงตา ๑,๐๐๐ ดวง และทำให้พระพรหมผู้ปรารถนาเห็นนางติโลตตมาจากทุกด้าน กลายเป็น "ท้าวจตุรพักตร์" มี ๔ หน้า) ฯลฯ
ผลงานเด่นอันสุดท้ายที่ใคร่อยากนำเสนอในที่นี้ ก็คือ "กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร ฯ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หมายถึง กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดานั้น พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้าง ตามพระบัญชาของพระอินทร์
จากผลงานสรรค์สร้างที่ปรากฏมากมายนี้เอง เทพองค์นี้จึงได้ชื่อว่า "วิศวกรรมา" ซึ่งมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า "ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง" (the "Universal Doer") คือเป็น "นายช่างแห่งจักรวาล" นั่นเอง
ตำนานฮินดูกล่าวว่า พระวิศวกรรมา มีพระเนตร ๓ ดวง มีกายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า มือถือคทา แต่ไทยนิยมวาดหรือปั้นรูปพระวิศวกรรมา ทรงชฎา มือถือจอบหรือผึ่ง (เครื่องมือสําหรับถากไม้ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายจอบ แต่มีด้ามสั้นกว่า) และลูกดิ่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางช่างอย่างชัดเจน
พวกช่างชาวฮินดูจะประกอบพิธีบูชาบวงสรวงพระวิศวกรรมา เพื่อขอพรให้ตนเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานกัน ในวันที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ฤกษ์ภัทรบท ในวันนี้พวกช่างจะงดใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางช่างทุกชนิด พวกเขามีความเชื่อว่าพระวิศวกรรมาจะเข้ามาสถิตในใจ และดลบันดาลให้พวกตนมีความคิดความอ่านที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่ดี มีคุณภาพอยู่เสมอ
ชาวไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม และการสืบทอดประเพณีบางอย่างมาจากอินเดีย ซึ่งนับถือว่าพระวิศวกรรมาเป็นเทพแห่งช่าง เป็นผู้สรรค์สร้าง หรือเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดการสรรค์สร้างประดิษฐกรรมต่าง ๆ ในโลก เราจึงบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศ "ENGINEERING" ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งช่าง ใช้ในภาษาไทยว่า "วิศวกรรมศาสตร์" หมายถึง "ศาสตร์ที่มีพระวิศวกรรมา (เทวดาแห่งช่าง ) เป็นครู"
ตำนานเกี่ยวกับกำเนิดของพระวิษณุกรรมนั้นไม่ชัดเจนและแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อ ตามคัมภีร์ฤคเวทซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณของอินเดียเป็นเอกสารที่จารึกเรื่องราวของพระวิษณุกรรมไว้ เป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่าตำนานต่าง ๆ ได้กล่าวไว้ว่าพระวิศวกรรมเป็นโอรสของพระประภาสและพระนางโยกสิฎฐา ทั้งบิดาและมารดาของพระวิษณุกรรมนั้นเป็นผู้ที่ใหญ่ที่มีอิทธิพลมาก เพราะว่าพระประภาสเองก็เป็นถึงหนึ่งในวสุเทพบริวารของพระอินทร์ วสุเทพนี้ มีด้วยกัน ๘ องค์ คือ ๑ ธรณี (ดิน) ๒ อาป(น้ำ) ๓ อนิล(ลม) ๔อนล(ไฟ) ๕องค์โสม(จันทร) ๖ ธรุระ(ดาว) ๗ประรัตยูร(รุ่ง) และ ๘ ประภาส(แสง) ส่วนพระนางโยกสิฏฐานั้นก็เป็นน้องสาวของพระพฤหัสบดี เป็นมหาคุรุเทพผู้เป็นครูของเทวดาทั้งหลายในกลุ่มของเทวดานพเคราะห์ทั้งหมด
ในทางพระพุทธศาสนามีความเชื่อว่า พระวิษณุกรรมคือเพื่อนของพระมาฆมานพ ตามตำราบอกว่า พระมาฆมานพนั้นอยู่ที่ตำบลจุลคาม แคว้นมคธ เมื่อครั้นยังมีชีวิตอยู่ได้ร่วมมือกันทำสาธารณประโยชน์ไว้มากมาย เช่น ได้ทำการแผ้วถางทางเพื่อสร้างทางเดิน ให้ผู้คนในหมู่บ้าน ในขณะที่สร้างก็มีคนมาถามไถ่ว่าจะสร้างทางไปไหนหรือท่าน มาฆมานพก็ตอบไปแบบใสใสว่ากำลังว่าสร้างทางไปสวรรค์อยู่ บรรดาพวกที่ถามก็เลยเกิดอาการถูกชะตา ดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาทันที รีบไปรวบรวมผู้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันจนได้กำลังคนมา ๓๓ คน ซึ่งต่อมาทั้ง ๓๓ คนนั้นก็เลยมาร่วมด้วยช่วยกันสร้างศาลาเพื่อเป็นทางไว้ไปสวรรค์ โดยที่การสร้างศาลานั้น มาฆมานพได้ไปเชิญช่างไม้ที่มีความสามารถผู้หนึ่งมาเป็นนายงาน นายช่างไม้ผู้นี้ก็ได้แสดงวิทยายุทธจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนในหมู่บ้าน ในที่สุดศาลาหลังนั้นก็สำเร็จงดงามเป็นประโยชน์แก่ผู้สัญจรไปมาด้วยการกระทำของมาฆมานพซึ่งรับบทเป็นผู้กำกับและนายช่างไม้ที่รับบทเป็นช่างก่อสร้างรวมทั้งบรรดาคนงานที่มาช่วยอีก ๓๓ คน เลยทำให้อานิสงส์ของกุศลดังกล่าวส่งให้เหล่าคนงานที่มาร่วมด้วยช่วยกันนั้นกลายเป็นเทพยดาในสรวงสวรรค์ เมื่อถึงแก่กรรม ส่วนมาฆมานพก็กลายเป็นพระอินทร์ และนายช่างก็ได้ไปเกิดเป็นเทพแห่งการช่างของสรวงสวรรค์ ชื่อพระวิษณุกรรม หรือ พระวิศวกรรม
ในพระพุทธศาสนานั้นเชื่อว่าพระวิษณุกรรมมีหน้าที่คอยรับใช้พระอินทร์เสมอ เมื่อพระอินทร์ใคร่จะสร้างเทวาลัยสถานที่ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระวิษณุกรรมก็มีหน้าที่รับภาระสนองจัดสร้างให้ตามที่พระอินทร์ต้องการ ดังปรากฏเรื่องราวของพระวิษณุกรรมในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น เรื่องพระเวสสันดรชาดก เมื่อพระเวสสันดรเสด็จไปอยู่เขาวงกตไม่มีศาลาที่อาศัย องค์พระวิษณุกรรมก็ลงมาเนรมิตอาศรมให้
ส่วนการกำเนิดของพระวิศวกรรมที่ปรากฏในพงศาวดารเขมร กลับไม่ซ้ำกับทั้งทางความเชื่อของพุทธ พราหมณ์ หรือ ฮินดูเลย เขมรเชื่อว่าพระวิษณุกรรมนั้นเป็นบุตรของชาวจีนจากเซียงไฮ้ที่ยากจนคนหนึ่งชื่อหลิมเสงกับนางทิพยสุดาจันทร์ผู้เป็นนางฟ้าที่พระอินทร์ สาปให้มาเป็นภรรยาของนายหลิมเสง ต่อมานางทิพสุดาจันทร์ได้เหาะกลับสวรรค์และนำพระวิสสุกรรมกลับขึ้นไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ด้วย เมื่อรู้จักกันแล้วพระอินทร์เห็นว่า วิสสุกรรม หรือ โปปูสโนการ ชอบงานทางช่างจึงโปรดให้เทพบุตรสอนงานช่างให้ พร้อมทั้งอนุญาตให้นำความรู้ไปเผยแพร่สั่งสอนมนุษย์ที่นับถือศาสนาพุทธ จะเห็นว่ารูปปั้น เก่า ๆ ขององค์พระวิษณุกรรมมักขุดพบในประเทศเขมร
(ที่มา : สมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชุปภัมภ์ (วสท.),ประวัติพระวิษณุกรรม)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน