เทวรูป พระหริหระ (Harihara)


... ... ...
... ... ...



เลขที่ : 1189
ประเภทพระเครื่อง : พระพุทธรูปบูชา
ชื่อพระเครื่อง : เทวรูป พระหริหระ (Harihara)
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เทวรูป พระหริหระ (Harihara) สัมฤทธิ์ ศิลปะขอมโบราณ สมัยก่อนเมืองพระนครประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 ความสูงประมาณ 102 เซนติเมตร

พระหริหระ(Harihara) หรืออีกพระนามหนึ่งคือ สังกรนารายน์ เป็นการรวมกันของพระศิวะ และพระวิษณุ สองมหาเทพแห่งศาสนาฮินดู โดยคำว่า “หริหระ” มาจากการรวมคำว่า “หริ” พระนามของพระวิษณุ ซึ่งแปลว่า ผู้ดูและจักรวาล และ “หระ” ซึ่งเป็นพระนามของพระศิวะ แปลว่า ผู้นำไป เคลื่อนไป
(หร แปลว่านำไป (ธาตุ หรฺ) หมายถึง พระศิวะ ผู้ทรงนำวิญญาณของผู้ตายไป (เพราะถือกันว่าทรงเป็นพระกาล และพระมฤตยูด้วย) และทรงทำให้สรรพสิ่งแตกทำลายเวียนว่ายเป็นวัฏจักร บางท่านตีความว่า หระ หมายถึง ทรงนำความทุกข์ไป)
พระหริหระเป็นที่นิยมนับถืออย่างกว้างขวางในอาณาจักรขอมโบราณตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 หรือสมัยพนมดา มีหลักฐานการค้นพบเทวรูปพระหริหระหลายองค์ที่สร้างขึ้นในยุคดังกล่าว
เทวรูปพระหริหระศิลปะแบบขอมโบราณ สมัยพนมดามีลักษณะเด่นคือมีพระพักตร์เดียว ซีกซ้ายมือเป็นพระศิวะ ทรงชฎามงกุฎ คือการเกล้ามวยผมทรงกระบอก มีพระจันทร์เสี้ยวบนพระเกษา ส่วนซีกขวามือเป็น พระวิษณุ ทรงกิรีฎะมกุฏ (กิรีฏมงกุฏ) คือหมวกทรงกระบอกอันเป็นสัญลักษณ์ของวรรณะกษัตริย์
พระหัตถ์ทั้งสี่ขององค์หริหระนั้นนิยมแสดงเครื่องหมายประจำองค์มหาเทพ พระวิษณุ ทรงจักร สังข์ คทา และก้อนดินหรือดอกบัว ส่วนพระศิวะทรงตรีศูล นอกจากนั้นพระหริหระอาจทรงสัญลักษณ์อันเป็นสิริมงคลอื่นๆเช่น คนโทน้ำอมฤต พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ สังข์ เครื่องหมายแห่งการอำนวยพร จักร เครื่องหมายแห่งอำนาจ เป็นต้น
การนุ่งผ้าแบบสมพต คือนุ่งผ้าสั้นเหนือเข่า เป็นการนุ่งผ้าที่นิยมในอาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ในศิลปะแบบพนมดาแสดงริ้วผ้าอย่างสวยงาม ในขณะเดียวกัน ที่เมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับอิทธิพลเดียวกันนั้นมีลักษณะต่างออกไปคือพบพระวิษณุที่มีการสลักผ้าที่เรียบ ปราศจากลายริ้ว และมีการยืนแบบตริภังค์
พระหริหระเป็นการรวมสองมหาเทพเป็นหนึ่งเดียว บูชาเพียงหนึ่งได้ถึงสอง เป็นการแสดงสภาวะ หน้าที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการรักษาสมดุลย์ของจักรวาล คือเป็นทั้งพระวิษณุผู้ปกปักรักษาโลกจากภัยอันตราย และพระศิวะผู้ทำลายล้างโลกเพื่อการสร้างขึ้นใหม่ในคติฮินดู แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีการตีความต่างกันออกไป โดยเห็นได้จากเรื่องคติความเชื่อของชาวสยาม พระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นว่า พระศิวะเป็น พระคุณ คือเป็นเทพผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา สงเคราะห์ทั้งเทพและอสูรในสามโลก ส่วนพระวิษณุถือเป็นพระเดช คือทรงเป็นเทพผู้อวตารปราบอสูรทั้งปวง
รูปแห่งสองมหาเทพศักดิสิทธิ์ ทรงฤทธา ผู้ที่เคารพบูชาพระองค์จะพบแต่ความสุขความเจริญ อายุยืนยาวปราศจากเพทภัย มีชัยเหนือผู้ปองร้าย ทรัพย์สินหลั่งไหลไม่ขาด มีอำนาจวาสนา
ที่มา : ศิลปะโบราณ บ้านพะยูนน้อย, https://antiqueheaven.wordpress.com/




Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน